มาตรการช่วยเหลือ SME จากวิกฤติโควิด-19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มยาวนานและรุนแรงมากขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบ๊งค์ชาติ ได้ออก “มาตรการช่วยเหลือ SME” เพิ่มเติมจาก “มาตรการดูแลเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3”

 

SME ถือเป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ และเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาจะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และรักษาการว่าจ้างงานต่อไปได้ โดยประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน 2563 มี 4 มาตรการหลัก ดังนี้

 

มาตรการที่ 1 การเลื่อนกำหนดชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้ธุรกิจมีสภาพคล่อง

ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในระยะเวลาผ่อนผัน อีกทั้งไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต สำหรับ SME ที่ไม่ได้รับผลกระทบ แนะนำว่าควรชำระหนี้ตามปกติหรือตามความสามารถ เนื่องจากมาตรการนี้จะเลื่อนเพียงวันชำระเท่านั้น แต่ทางธนาคารยังคิดดอกเบี้ยตามปกติ

มาตรการที่ 2 การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) ให้แก่ธุรกิจ SME วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

เป้าหมายของมาตรการนี้คือเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และธนาคารจะรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ใน 6 เดือนแรก เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในส่วนนี้

มาตรการที่ 3 มาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารนี้ภาคเอกชน

มูลค่าตราสารหนี้เอกชนของไทยมีมูลค่ามากกว่า 3.6 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เพราะมีมูลค่าถึงประมาณ 20% ของ GDP ในสภาวะเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของตลาดตราสารหนี้ได้ ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่น ทำให้การต่ออายุหนี้ทำได้ยาก เสี่ยงต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้างตามมา มาตรการนี้คาดหวังว่าจะทำให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นเพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้ตามปกติ

มาตรการที่ 4 ลดเงินนำส่ง FIDF ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาวะดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน

การปรับลดเงินนำส่งเช่นนี้ส่งผลใกล้เคียงการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดเงินนำส่งจากเดิมร้อยละ 0.46 เหลือเพียง 0.23 เป็นระยะเวลา 2 ปีเพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนได้

ธนาคารของประเทศไทยมีหน้าที่หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพแฃะลดความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาด ซึ่งด้วยสภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบที่เสี่ยงต่อการลุกลามในวงกว้าง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมเครื่องมือที่พร้อมใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

Share to everyone